ใครที่กำลังมองหากล้อง Mirrorless ดี ๆ สักตัวในเวลานี้ TechXcite อยากจะขอแนะนำกล้อง Mirrorless รุ่นใหม่ล่าสุดจากทาง Canon ที่เพิ่งเปิดตัวออกมาจนสร้างกระแสฮือฮาอย่างมาก เพราะเป็นกล้องที่เรียกได้ว่าตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายและมาพร้อมกับสเปคที่ดีมาก ๆ กับ Canon EOS R7 และ Canon EOS R10 กล้อง Mirrorless ในตระกูล R Series ที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C โดยนำเอาเทคโนโลยีและความสามารถหลายอย่างมาจากรุ่นเรือธงอย่าง Canon EOS R3 มาใส่ไว้ในกล้องทั้งสองรุ่นนี้
ด้วยความที่กล้องทั้งสองรุ่นนี้ ทั้ง Canon EOS R7 และ Canon EOS R10 นั้น เปิดตัวออกมาพร้อมกัน มีสเปคต่างกันนิดหน่อย ทำให้หลายคนลังเลและสงสัยว่า มันมีอะไรต่างกันบ้างและควรซื้อตัวไหนดีที่จะเหมาะกับการใช้งานของตัวเอง ทาง TechXcite เลยขอไขข้อสงสัยในบทความรีวิวนี้เลย
1. ขนาดและน้ำหนัก
เริ่มจากในเรื่องของบอดี้กล้องกันเลยดีกว่า กล้องทั้งสองรุ่นนั้นต้องบอกว่ามีขนาดที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ในส่วนของ Canon EOS R7 จะมีขนาดบอดี้ที่กว้างกว่านิดหน่อย และมีขนาดกริปที่ใหญ่กว่า ทำให้การจับถือทำได้ถนัดกว่า ส่วน Canon EOS R10 นั้นโดยรวมคือจะมีขนาดที่เล็กกว่า ซึ่งเป็นจุดเด่นสำหรับใครที่ชอบกล้องขนาดเล็ก พกพาสะดวก และจากการลองเปรียบเทียบและใช้จริงพบว่ามีความแตกต่างในการจับถือและพกพาจริง ๆ โดย Canon EOS R7 เองจะบึกบึนจับถือได้ถนัดเต็มไม้เต็มมือ ในขณะที่ Canon EOS R10 พกพาง่าย ตัวเล็ก ใส่กระเป๋าได้สะดวก
Canon EOS R7 จับถือได้เต็มมือกว่า (น้ำหนัก 612 กรัม รวมแบตเตอรี่และการ์ด)
Canon EOS R10 เล็กกว่า เบากว่า เวลาจับถือแล้วรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง (น้ำหนัก 429กรัม รวมแบตเตอรี่และการ์ด)
2. ดีไซน์ของตัวกล้อง
ในส่วนของดีไซน์ตัวกล้องนั้น มีหลายจุดที่เหมือนและแตกต่างกัน ในส่วนที่เหมือน ๆ กันก็คือ ใช้เลนส์เมาท์ Canon RF-S โดยเมาท์เลนส์นี้สามารถใช้งานได้ทั้งกับเลนส์ที่ใช้กับกล้อง Full Frame ได้ด้วย (และเลนส์รหัส RF-S เอง ก็เอาไปใช้กับเมาท์ RF ได้เช่นกัน เพียงแต่ในกล้องเซ็นเซอร์ Full Frame จะถูกครอปภาพ) อีกทั้งยังมาพร้อมกับหน้าจอที่สามารถบิดพับได้ ซึ่งรองรับระบบสัมผัส และการวางตำแหน่งของปุ่มต่าง ๆ ที่คล้ายกันมาก
ส่วนที่ต่างกันเลยก็คือ Canon EOS R7 รองรับการใช้งานการ์ดแบบ SD สองช่อง ในขณะที่ Canon EOS R10 มีช่องใส่การ์ด SD เพียงช่องเดียว แต่ทั้งคู่รองรับการ์ดชนิด SD UHS-II และตำแหน่งของช่องใส่การ์ดก็แตกต่างกันด้วย
ในส่วนของ Canon EOS R10 ช่องใส่การ์ดจะอยู่บริเวณด้านล่าง ช่องเดียวกันกับช่องใส่แบตเตอรี่ ซึ่งตรงนี้เองก็ต่างกันอีก เพราะ Canon EOS R10 ใช้แบตเตอรี่รุ่น LP-E17 ที่ตามสเปคระบุว่าใช้งานถ่ายภาพได้สูงสุดประมาณ 430 รูป ส่วน Canon EOS R7 ใช้แบตเตอรี่รุ่น LP-E6NH ที่ใช้งานได้เยอะกว่า ประมาณ 770 รูป
และที่แตกต่างชัดเจนก็คือ Canon EOS R7 นั้นไม่มีแฟลชหัวกล้องให้ใช้งาน ในขณะที่ Canon EOS R10 มีมาให้ แต่อย่างไรก็ตามทั้งคู่มี Hotshoe รุ่นใหม่ที่เป็น Multi Function รองรับการใช้งานได้หลากหลายขึ้น ทั้งการต่อแฟลชภายนอก การต่อไมโครโฟนในรุ่นที่รองรับโดยไม่ต้องเสียบสาย (สามารถใช้งานกับไมโครโฟน Canon รุ่น DM-E1D) หรือแม้แต่ใช้งานร่วมกับอแดปเตอร์ Canon AD-P1 เพื่อทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนในการต่อเป็นจอมอนิเตอร์ได้
นอกจากนี้ในส่วนของพอร์ตเชื่อมต่อที่ Canon EOS R7 มีให้ครบทุกพอร์ตตั้งแต่ Micro HDMI , USB-C สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ PD และโอนไฟล์เข้าสมาร์ทโฟนทั้งระบบ Andriod และ iOS, รีโมทคอนโทรล , ไมโครโฟน และหูฟัง แต่ Canon EOS R10 จะขาดช่องหูฟังไป
และอีกหนึ่งดีไซน์ที่แตกต่างกันก็คือ Canon EOS R7 มี Quick Control Dial สำหรับควบคุมกล้องติดอยู่กับจอยสติ๊กเลย ส่วนของ Canon EOS R10 จะแยกตำแหน่งของ Dial ไว้ด้านบนตัวกล้องและจอยสติ๊ก ซึ่งจากการใช้งานจริงก็ไม่แตกต่างกันมาก เพียงแค่ต้องอาศัยความคุ้นเคยในการใช้งานหากต้องสลับกล้องไปมา รวมถึงบอดี้ของ Canon EOS R7 นั้นมี Weather Sealed ช่วยป้องกันละอองน้ำและฝุ่น
3. เซ็นเซอร์ และระบบป้องกันภาพสั่นไหว
สิ่งที่แตกต่างกันของ Canon EOS R7 และ Canon EOS R10 อีกอย่างก็คือเรื่องของเซ็นเซอร์และระบบป้องกันภาพสั่นไหวนั่นเอง แม้ว่าทั้งคู่จะใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C เหมือนกัน แต่ Canon EOS R7 จะเป็นเซ็นเซอร์ความละเอียด 32.5 ล้านพิกเซล และยังมาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัว In-body image stabilisation (IBIS) แบบ 5 แกนที่สามารถลดการสั่นไหวได้สูงสุดถึง 8 สตอป ซึ่งจุดนี้เองทำให้ Canon EOS R7 มีฟีเจอร์ใหม่อย่าง Auto Level ที่ช่วยแก้ไขปัญหาภาพเอียงได้ มีประโยชน์มาก ๆ เวลาถ่ายภาพวิว ช่วยแก้ปัญหาเส้นขอบฟ้าเอียงหรือตั้งกล้องแล้วไม่ได้ระนาบ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งในส่วนของภาพนิ่งและวีดีโอ และยังมีระบบ Movie Digital IS ที่ช่วยลดการสั่นไหวแบบดิจิตอลเมื่อใช้งานถ่ายวีดีโอ
ส่วน Canon EOS R10 มีความละเอียดของเซ็นเซอร์อยู่ที่ 24.2 ล้านพิกเซล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวกล้องมาให้ ต้องพึ่งที่ระบบเลนส์ แต่ยังมีระบบ Movie Digital IS ที่สามารถใช้ลดการสั่นไหวของภาพเมื่อถ่ายวีดีโอเช่นกันเหมือน Canon EOS R7
- Canon EOS R7 เหนือกว่าทั้งในเรื่องความละเอียดพิกเซลและมีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัว
4. ระบบออโต้โฟกัส
ในส่วนของระบบออโต้โฟกัสของทั้งสองรุ่นได้นำเอาเทคโนโลยีของ Canon EOS R3 ซึ่งเป็นกล้องรุ่นโปรระดับเรือธงมาใช้ โดยมีระบบออโต้โฟกัสที่มีชื่อว่า Dual Pixel AF II ที่มีอัลกอริธึมในการติดโฟกัสติดตามวัตถุได้อย่างแม่นยำ และยังมีระบบเลือกโฟกัสที่ดวงตาหรือติดตามโฟกัสร่างกายมนุษย์และสัตว์ รวมถึงการโฟกัสยานพาหนะ (ใช้ถ่ายกีฬามอเตอร์สปอร์ตได้อย่างง่ายดาย สามารถโฟกัสติดตามบริเวณหมวกกันน็อคของนักแข่งรถได้) และทั้งคู่ยังมีจุดโฟกัสมากถึง 651 จุด
จะมีแตกต่างก็นิดเดียวเท่านั้นตรงที่ Canon EOS R7 โฟกัสในที่แสงน้อยได้ถึง -5EV ส่วน Canon EOS R7 โฟกัสในที่แสงน้อย -4EV
5. ความเร็วในการถ่ายภาพ
ในเรื่องของความเร็วในการถ่ายภาพนั้น มีจุดที่เหมือนและแตกต่างสำหรับ Canon EOS R7 และ Canon EOS R10 ดังนี้
- ชัตเตอร์แบบกลไก Canon EOS R7 สามารถใช้งานความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/8000 วินาที ส่วน Canon EOS R10 ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/4000 วินาที
- ชัตเตอร์แบบอิเล็คทรอนิกส์ ทั้งคู่สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงสุด 1/16000 วินาที
- ชัตเตอร์แบบกลไก ทั้งคู่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องเร็วสูงสุด 15 ภาพต่อวินาที
- ชัตเตอร์แบบอิเล็คทรอนิกส์ Canon EOS R7 ถ่ายภาพต่อเนื่องได้เร็วสุดที่ 30 ภาพต่อวินาที ในขณะที่ Canon EOS R10 ทำได้ที่ 23 ภาพต่อวินาที
6. วิวไฟน์เดอร์อิเล็คทรอนิกส์และหน้าจอ LCD
กล้องทั้งสองรุ่นนั้นมีวิวไฟน์เดอร์อิเล็คทรอนิกส์มาให้ใช้งานทั้งคู่ พร้อมกับหน้าจอ LCD ที่สามารถบิดพับได้ สเปคของวิวไฟน์เดอร์อิเล็คทรอนิกส์นั้นมีความละเอียด 2.63 ล้านจุด มองเห็นภาพ 100% ส่วนหน้าจอ LCD นั้นมีขนาด 3 นิ้วเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องความละเอียดของหน้าจอ โดย Canon EOS R7 มีความละเอียดของหน้าจอที่ 1.62 ล้านจุด ส่วน Canon EOS R10 มีความละเอียดหน้าจอที่ 1.04 ล้านจุด
7. วีดีโอ
กล้อง Canon EOS R7 และ Canon EOS R10 ทั้งคู่รองรับการถ่ายวีดีโอคุณภาพสูงที่ความละเอียดระดับ 4K เลยทีเดียว แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ Canon EOS R7 จะสามารถถ่ายวีดีโอ 4K 60p ได้แบบไม่มีครอป แถมมี C-LOG3 ให้ใช้งานสำหรับมืออาชีพ แต่ของ Canon EOS R10 หากถ่าย 4K 60p จะถูกครอป ต้องเปลี่ยนไปใช้ 4K 30p ถึงจะไม่ถูกครอป
8. ราคา
แน่นอนว่าเรื่องราคานั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลของการตัดสินใจเลือกว่าจะซื้อรุ่นไหนดีแน่ ๆ สำหรับราคาเปิดตัวของ Canon EOS R7 อยู่ที่ 49,900 บาทสำหรับบอดี้เพียงอย่างเดียวแต่ถ้าอยากได้ชุดเลนส์ RF-S 18-150mm f3.5-6.3 IS STM ราคาจะอยู่ที่ 64,900 บาท
ส่วน Canon EOS R10 นั้น มี 2 ชุดเลนส์คิต คือ มาพร้อมกับชุดเลนส์ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM กับราคาเปิดตัวที่ 35,990 บาท และมาพร้อมกับชุดเลนส์ RF-S18 150 mm F/3.5-6.3 IS STM กับราคาเปิดตัวที่ 46,890 บาท
จะเห็นได้ว่าราคาต่างกันพอสมควรเหมือนกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วก็ต้องบอกว่าราคาที่จ่ายเพิ่มขึ้นนั้น ก็จะได้สเปคที่ดีขึ้นนั่นเอง
สรุปราคาจำหน่ายในไทย EOS R7 และ EOS R10
- EOS R7 (body) ราคา 49,900 บาท
- EOS R7 พร้อมเลนส์ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM ราคา 64,900 บาท
- EOS R10 พร้อมเลนส์ RF-S18-45mm f/4.5 - 6.3 IS STM ราคา 35,990 บาท
- EOS R10 พร้อมเลนส์ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM ราคา 46,890 บาท
สรุปแล้ว Canon EOS R7 กับ Canon EOS R10 เลือกตัวไหนดี ก็ต้องบอกว่าทั้งสองตัวแม้ว่าจะเป็นกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ APS-C เหมือนกันแต่ Canon EOS R7 นั้นจะเป็นกล้องที่ค่อนข้างโปรกว่า เพราะมีฟีเจอร์ที่ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ตอบสนองการทำงานได้มากกว่าทั้งเรื่องระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัว , การถ่ายวีดีโอ 4K 60p แบบไม่ครอป หรือแม้แต่การใส่การ์ดได้สองช่อง
ในขณะที่ Canon EOS R10 เหมือนเป็นกล้องรุ่นรองสำหรับผู้ที่มองหากล้องเล็ก ๆ พกพาง่าย แต่ประสิทธิภาพก็ไม่ได้ด้อยไปมากกว่ากันเลย เพราะทั้งระบบออโต้โฟกัส หรือแม้แต่การถ่ายวีดีโอที่ 4K 30p ก็เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่เริ่มต้นถ่ายภาพ
แถมท้ายกับรีวิวการใช้งานจริงของกล้องทั้งสองตัวกับเลนส์ Kit รุ่นใหม่ทั้ง RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM และ RF-S 18-150mm f3.5-6.3 IS STM ซึ่งต้องบอกว่ากล้องทั้งสองรุ่นนั่น จากการใช้งานจริงแล้วพบว่าใช้งานได้สนุก โดยเฉพาะที่ต้องชื่นชมมาก ๆ คือเรื่องของระบบโฟกัสที่เร็ว และใช้งานโฟกัสติดตามวัตถุได้แม่นยำมาก ๆ เนื่องจากทั้งคู่ได้นำเอาเทคโนโลยีระบบโฟกัสมาจากรุ่นใหญ่อย่าง Canon EOS R3 นั่นเอง
จุดที่แตกต่างกันนิดหน่อยก็คือเรื่องของการจับถือนั่นแหละ เพราะว่า Canon EOS R7 ตัวใหญ่กว่า จับถือได้ถนัดมือกว่าจริง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบ Canon EOS R10 ตรงที่มีขนาดบอดี้ที่เล็กกว่า แถมเบากว่าด้วย พอสะพายกล้องทั้งสองตัวพร้อมกัน เลยรู้สึกถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ส่วนเรื่องที่สำคัญเลยก็คือระบบป้องกันภาพสั่นไหวใน Canon EOS R7 ที่ช่วยได้มากจริง ๆ ใครที่เน้นการทำงานแบบมืออาชีพ ก็ต้องยอมจ่ายเพิ่ม เพราะมันช่วยให้เราได้รูปและทำงานง่ายขึ้นจริง ๆ เมื่อต้องเจอกับสภาพแสงน้อยหรือต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
ส่วนเลนส์ Kit ที่ทาง Canon ออกมาใหม่นั้น ก็ต้องบอกว่ามีน้ำหนักเบา และเป็นเลนส์ที่ให้คุณภาพดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะตัวเลนส์ RF-S 18-150mm f3.5-6.3 IS STM จะประทับใจเป็นพิเศษหน่อยเพราะช่วงซูมยาวกว่า ทำให้มีโอกาสได้ภาพที่หลากหลายขึ้น แต่ราคายังไงก็ต่าง ๆ กันแน่ ๆ แหละ ส่วนภาพตัวอย่างเดี๋ยวไล่เรียงไปทีละใบแล้วกัน ว่าถ่ายออกมาแล้วเป็นอย่างไร
ในกล้องทั้งสองรุ่นมีลูกเล่นเยอะอยู่นะ ใครที่เคยใช้ Canon รุ่นเริ่มต้นหรือรุ่นกลาง ๆ ก็จะมีพวกโหมด Scene ต่างให้ใช้งานแบบง่าย ๆ แบบว่ายกถ่ายเลยไม่ต้องตั้งค่ากล้องอะไรเยอะ หรือตัวอย่างภาพแรกนี้ถ่ายด้วยฟังก์ชั่นถ่ายภาพซ้อน ทำให้ได้ภาพที่ดูมีสีสันแปลกตาดีโดยไม่ต้องพึ่งโปรแกรมตกแต่งภาพใด ๆ (ใช้กล้อง Canon EOS R7)
ลองถ่ายภาพด้วย Canon EOS R7 ในช่วงกลางคืน แล้วลองดูว่าถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะถือไหวไหมกับระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวกล้องบวกกับที่เลนส์อีก พอได้ผลลัพธ์ออกมาก็ต้องบอกว่าประทับใจมาก เพราะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 0.8 วินาที กลั้นหายใจยืนนิ่ง ๆ ถือกล้องให้มั่นคงแล้วกดก็ได้ภาพสวยอยู่
ลองอีกใบกับภาพช่วงกลางคืนแบบไม่ใช้ขาตั้งกล้องอีกที จริง ๆ แล้วถ้าใช้ขาตั้งกล้องจะได้ภาพชิงช้าสวรรค์ที่ไฟมันหมุน ๆ นะ แต่อันนี้ไม่ได้พกขาตั้งกล้องไป ลองถ่ายที่ความเร็วชัตเตอร์ 1 วินาที ก็ยังประคองไหว ได้ภาพชัดอยู่ แต่ถ้าความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่านี้ หรือใช้เลนส์เทเลก็มีสั่นแหละ เอาจริง ๆ
ลองใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลากไฟ หมุนซูมเลนส์ดู ก็ได้ภาพแปลก ๆ สวย ๆ จากกล้อง Canon EOS R7 กับเลนส์ RF-S 18-150mm f3.5-6.3 IS STM
โบเก้จากเลนส์ RF-S 18-150mm f3.5-6.3 IS STM แม้จะค่ารูรับแสงไหลไปที่ 6.3 แต่ถ้าเลือกฉากหลังดี ๆ ก็เบลอจนได้โบเก้สวย ๆ ได้เหมือนกัน
อันนี้ก็เลนส์ RF-S 18-150mm f3.5-6.3 IS STM เช่นเดียวกัน ความคมเอาเรื่องทีเดียวสำหรับเลนส์ซูมตัวนี้
มาลองถ่ายภาพสัตว์กันบ้าง คือกล้องทั้งสองรุ่นก็มีเทคโนโลยีโฟกัสที่ดวงตาของสัตว์ ซึ่งระบบนี้ไว้ไจได้มาก ๆ เลย เพราะกล้องจะรู้ว่าตรงไหนเป็นดวงตาของสัตว์ แต่ภาพนี้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าไปหน่อยเลยได้รูปแมวแบบเบลอ ๆ มาซะงั้นแต่สังเกตตรงขานะ ชัดเป๊ะ เลนส์คมดีจริง ๆ
เป็นนกตัวเล็ก ๆ ก็สามารถโฟกัสที่ดวงตาได้ กล้องทั้งสองรุ่นฉลาดมากที่รู้ว่า Subject ที่จะถ่ายนั้นต้องโฟกัสตรงไหน ปกติสายถ่ายนกจะต้องโฟกัสรอไว้ก่อน แต่สำหรับทั้ง Canon EOS R7 และ Cano EO R10 คือยกเล็งกดรัวได้เลย ที่สำคัญคือมีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องเร็วมาก ๆ ด้วย ทำให้ได้ภาพง่ายขึ้น
ส่วนภาพรถสามล้อนี้ ลองโหมด Scene ที่เรียกว่า Panning คือ ปกติแล้วเวลาอยากถ่ายภาพแนวนี้ต้องตั้งค่ากล้องเอง เอาให้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสัก 1/15 หรือ 1/30 วินาที แล้วก็ต้องคอยจับโฟกัส แต่โหมดนี้คือกล้องฉลาดมาก ทำให้เองหมดเลยทั้งการตั้งค่าต่าง ๆ รวมถึงการโฟกัสไปที่รถแบบเราไม่ต้องตั้งจุดโฟกัสอะไรเลย ถ่ายสนุกมาก ๆ เลยล่ะ
ลองถือกล้องเดินถ่ายเล่นริมถนนยามค่ำคืน ถ้าใครมองหากล้องสำหรับไว้ใช้ท่องเที่ยวจะบอกว่าทั้ง Canon EOS R7 และ Canon EOS R10 ใช้ดีทั้งคู่ อย่างภาพนี้ใช้ประโยชน์จากหน้าจอพับได้ช่วยจัดองค์ประกอบภาพตอนยกแขนสูงถ่ายได้สะดวก
อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบของกล้องทั้งสองตัวก็คือ ระบบสัมผัสที่หน้าจอ ซึ่งมันทำให้การถ่ายภาพมันง่ายขึ้น อารมณ์เหมือนใช้สมาร์ทโฟน แตะตรงไหนชัดตรงนั้น แถมวัดแสงให้แม่นยำอีกด้วย การปรับตั้งค่าต่าง ๆ บางทีก็ไม่ต้องกดปุ่มให้วุ่นวาย เสียเวลา ใช้การแตะเลือกแล้วปรับค่าที่หน้าจอก็ง่ายดี แถมทำงานเร็วด้วย
ใน Canon EOS R7 มีฟีเจอร์ Auto Level ช่วยปรับระดับเซ็นเซอร์ให้ขนานแบเป๊ะ ๆ อันนี้ก็เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่โดนใจมาก ๆ เพราะเวลาถ่ายรูปเส้น ๆ อะไรแบบนี้ก็อยากได้ตรง ๆ ไม่อยากมานั่งปรับทีหลัง อันนี้คือยก เล็ง ถ่าย ได้รูปสวยเลย จบ!
ส่วนภาพนี้ลองเล่นระบบการถ่ายภาพต่อเนื่อง 30fps ของ Canon EOS R7 ก็กดรัว ๆไปเลย มันต้องมีได้ภาพสวย ๆ สักใบแหละ อันนี้แนะนำถ้าเป็นสายถ่ายกีฬาหรือถ่ายนกอะไรแบบนี้น่าจะชอบ เพราะมันรัวได้เร็วมากจริง ๆ
ส่วน Canon EOS R10 ก็บอกแล้วว่ามันเล็ก ๆ เบา ๆ โดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าเอาไว้ใช้เป็นกล้องสำรองหรือพกไปเที่ยวก็ดีนะ มันไม่เป็นภาระในการพกพามาก แถมฟีเจอร์หลาย ๆ อย่างก็ทำออกมาได้ดี มือใหม่เองก็น่าจะตอบโจทย์การใช้งานแน่ ๆ
ส่วนเรื่อง Noise ของกล้อง APS-C นั้น ก็ไม่ได้ถึงกับคาดหวังมากนัก เพราะรู้ว่ายังไงแล้วเซ็นเซอร์ก็เล็กกว่า Full Frame ซึ่งให้คุณภาพดีกว่าแน่ ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากล้องรุ่นใหม่ ๆนั้นจัดการ Noise ได้ดีขึ้นเยอะ
อันนี้ลองใช้ Canon EOS R10 ถ่าย Selfie เพราะมันมีโหมดถ่าย Selfie ทำหน้าเนียนอะไรแบบนี้ได้ด้วย (Canon EOS R7 ไม่มีนะโหมดนี้) เอามาใช้ลองถ่ายตัวเองก็ออกมาดูดีเหมือนกันนะเนี่ย และอีกอย่างก็คือความพิเศษของกล้อง Canon EOS R10 คือเมื่อปรับจอมาด้านหน้าเพื่อถ่ายภาพเซฟฟี่ หน้าจอ LCD จะปรากฎปุ่มโหมด Self portrait ขึ้นให้ทันที ให้ผู้ใช้เลือกปรับระดับหน้าเนียนได้ 5 ระดับ อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเข้าไปเปิดโหมดในเมนูกล้องด้านใน
ด้วยประโยชน์ของจอบิดพับได้ เลยสามารถหามุมถ่ายภาพสวย ๆ ได้สะดวก ภาพของเครื่องเล่นม้าหมุนสะท้อนน้ำที่พื้น ถ่ายโดยการใช้จอบิดพับช่วยให้กล้องแนบกับพื้นได้ โดยไม่ต้องก้มตัวลงไป
สำหรับเซ็นเซอร์ APS-C สามารถทำหน้าชัดหลังเบลอได้แม้ไม่ได้ใช้รูรับแสงกว้าง ขอแค่หาจุดโฟกัสและฉากหลังที่อยู่ห่างกันสักหน่อยก็พอที่จะเบลอฉากหลังได้อยู่เหมือนกัน
โดยรวมแล้วการใช้งานกล้อง Canon EOS R7 และ Canon EOS R10 ทั้งคู่สำหรับการถ่ายภาพ สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องระบบโฟกัส และความรวดเร็วในการใช้งาน โดย Canon EOS R7 จะเหนือกว่าในเรื่องของความละเอียดของเซ็นเซอร์ ระบบป้องกันภาพสั่นไหว รวมถึงแบตเตอรี่ที่อึดกว่า และฟีเจอร์ที่เป็นมืออาชีพมากกว่า ส่วน Canon EOS R10 ก็ได้เปรียบเรื่องความเล็กและเบา แถมราคาก็ถูกกว่า เอางบที่เหลือไปเพิ่มเติมเลนส์ดี ๆ ได้ ๆ ถ้าให้เลือกก็ต้องดูเหตุผลว่า เราได้ใช้งานฟีเจอร์ที่ให้มาใน Canon EOS R7 มากขนาดไหน หรือจะประหยัดงบแล้วเลือก Canon EOS R10