จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้การเดินทางจะไปติดต่อราชการต่างๆนั้นเป็นไปได้ยากกว่าเดิม และอาจมีความเสี่ยงระหว่างเดินทาง กรมการขนส่งทางบกจึงได้เปิดอบรมต่ออายุใบอนุญาตขับรถออนไลน์ ที่สามารถดูคลิปวีดีโอการอบรมได้ที่บ้านพร้อมทำแบบทดสอบประเมิน ถ้าผ่านการอบรมก็สามารถนำไปยื่นได้ที่กรมการขนส่งทางบกได้เลย วิธีการจะเป็นอย่างไรทำได้ยากหรือไม่วันนี้จะมาแนะนำกัน
ก่อนอื่นเข้าไปที่เว็บไซต์ www.dlt-elearning.com
เมื่อเข้ามาหน้าแรกก็เข้าไปลงทะเบียนใส่เลขบัตรประชาชนและวันเดือนปีเกิดเพื่อเข้าสู่ระบบ จากนั้นก็จะเข้ามาสู่หน้าของการเลือกการอบรม
ในระบบจะมีตัวเลือกให้เราเลือกอบรม 4 หมวดหลักด้วยกัน
- ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล (รถจักรยานยนต์ รถยนต์สามล้อ รถยนต์) ระยะเวลาอบรม 1 ชั่วโมง
- ใบอนุญาตขับรถขนส่ง ระยะเวลาอบรม 2 ชั่วโมง
- ใบอนุญาตขับรถสาธารณะ (รถจักรยานยนต์สาธารณะ รถยนต์สามล้อสาธารณะ รถยนต์สาธารณะ) ระยะเวลาอบรม 3 ชั่วโมง
- ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคล (รถจักรยานยนต์ รถยนต์สามล้อ รถยนต์) กรณีขาดต่ออายุเกิน 1 ปี ระยะเวลาอบรม 2 ชั่วโมง
ก่อนเข้ารับการอบรมใบขับขี่จะต้องทำแบบทดสอบ Pre-Test ก่อน ตรงนี้เราไม่ต้องซีเรียสกันมัน เพราะแค่ทดสอบก่อนการอบรม ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องจะอยู่ในคลิปวีดีโอที่เรากำลังจะได้ดูหลังจากนี้
ระยะเวลาในการอบรมก็ขึ้นอยู่กับประเภทของการต่อใบขับขี่ ในหน้านี้หากเรากดปิดหน้าจอ พับหน้าจอ หรือย้ายไปใช้งาน Tab อื่นวีดีโอจะหยุดเล่นโดยอัตโนมัติ ใครที่ต้องการเปิดฟังคลอๆ แล้วทำอย่างอื่นไปด้วยอาจจะยากหน่อย และวีดีโอจะไม่สามารถกรอย้อนกลับหรือเดินหน้าได้ ซึ่งคำถามในแบบทดสอบหน้าแรกจะมีคำตอบซ่อนอยู่ในนี้ ต้องคอยฟังให้ดี
เมื่อดูวีดีโอจบก็จะขึ้นแบบทดสอบหลังการอบรมมาให้เราทำ ส่วนนี้ต้องตั้งใจกาให้ดี เพราะถ้าตอบผิดมากกว่า 2 ข้อก็เท่ากับไม่ผ่านผลการอบรม
สำหรับคนที่ผ่านการอบรมใบขับขี่แล้ว ระบบจะนำเรามาที่หน้านี้ให้ทำการแคปหน้าจอเก็บไว้ ผลการอบรมออนไลน์มีอายุ 6 เดือน นับจากวันที่ผ่านการอบรม จากนั้นไปดาวน์โหลดแอปของกรมการขนส่งเพื่อจองคิวผ่านแอป DLT Smart Queue ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
แอนดรอยด์ http://bit.ly/2IkLpyO
ทั้งนี้ทั้งนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นการอบรมแบบออนไลน์ แต่ในบางเนื้อหาของการอบรมก็มีส่วนสำคัญที่ผู้ใช้รถใช้ถนนควรจะรู้เอาไว้ เพราะฉะนั้นสละเวลาตั้งใจดูมันสักนิดก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย รู้เท่าทันการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ขอให้ทุกคนปลอดภัย