รวม! สมมุติฐานที่อาจเป็นไปได้หลังพบฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ บ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลก!
เมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา มีประกาศจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นประกาศสำคัญแจ้งเรื่องการค้นพบโมเลกุลฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ซึ่งจากงานวิจัยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จาก 2 สิ่งคือผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมและเกิดจากสิ่งมีชีวิต แน่นอนว่าข้อแรกนั้นเป็นไปไม่ได้ จึงมีการคาดคะเนกันไว้ 2 รูปแบบคืออาจมีการทำปฏิกิริยาจากสสารอื่นที่อยู่นอกเหนืองานวิจัยหรืออธิบายง่ายๆ คืออาจจะมีเคมีตัวใหม่ที่สร้างฟอสฟีนขึ้นมาได้ กับอีก 1 การสันนิษฐานก็คือ บนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์อาจมีสิ่งมีชีวิตที่สร้างฟอสฟีนนี้ขึ้นมา
จากข้อมูลเดิมที่ได้จากการศึกษามา พื้นผิวของดาวศุกร์มีอุณหภูมิที่ร้อนจัดกว่า 500 องศาเซลเซียส จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่พื้นผิวของดาวศุกร์ แต่เมื่ออยู่สูงขึ้นมาเหนือชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์เราราวๆ 50 กิโลเมตรกลับมีอุณหภูมิที่เย็นลง ประมาณ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติบนโลกแต่บนชั้นบรรยากาศก็มีกรดกำมะถันสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เกินกว่ามนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกจะสามารถอาศัยอยู่ได้เช่นกัน จึงยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันถึงการมีอยู่ของฟอสฟีน
ในวันนี้จึงได้รวบรวมสมมติฐานจากข้อสันนิษฐานต่างๆ ถึงความเป็นไปได้ของการเกิดฟอสฟีน แม้บางสมมติฐานจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากๆ แต่อย่าลืมว่ากฎทุกอย่างที่ถูกวิจัยขึ้น อ้างอิงจากสสารและสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกเท่านั้น หรืออธิบายง่ายๆก็คือ โลกของเรามีคุณสมบัติและความเหมาะสมเพียงพอสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์และสัตว์โลกขึ้นมาได้ ในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของโลก สสารทุกอย่างจึงมีความเข้ากันและสามารถอธิบายการเกิดสิ่งมีชีวิตบนโลกได้แต่เมื่ออยู่เหนือจากชั้นบรรยากาศของโลกไปแล้ว ทุกอย่างยังคงเป็นแค่เพียงการสันนิษฐานที่ไม่สามารถฟันธงข้อเท็จจริงได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์
มีสิ่งมีชีวิตบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์จริง
หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นเรื่องจริง ลักษณะทางกายภาพของสิ่งมีชีวิตบนนั้นจะแตกต่างจากมนุษย์และสัตว์โลกอย่างสิ้นเชิง และมันจะเป็นคำอธิบายที่ตอบคําถามเรื่องตัวดูดกลืนรังสี UV ปริศนาบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ที่เคยตรวจพบได้ก่อนหน้านี้ และนั่นจะเป็นการฉีกกฎธรรมชาติการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่เราเคยศึกษากันมาเรื่องกฎของการมีชีวิต และนั่นหมายถึงบนดาวดวงอื่นก็อาจจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นและปรับสภาพเข้ากับดวงดาวที่อยู่อาศัย ซึ่งการเกิดของสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากนั้นก็อาจจะอยู่เหนือกฎธรรมชาติของโลก เป็นเคมีลึกลับและอยู่เหนือการตรวจสอบ จนทำให้ไม่เคยมีการตรวจพบร่องรอยสิ่งมีชีวิตของดวงดาวในระบบสุริยะมาก่อนก็เป็นได้ แต่นี่ก็ยังเป็นแค่เพียงการคาดการณ์เท่านั้น
ฟอสฟีนบนดาวศุกร์เกิดจากปฏิกิริยาเคมีลึกลับ
ที่ผ่านมาเราเรียนรู้สสารและปฏิกิริยาต่างๆจากบนโลกเป็นหลัก มีบ้างที่วิวัฒนาการได้นำวัตถุลึกลับจากดวงดาวดวงอื่นกลับมาศึกษา แต่ก็ใช่ว่าเราได้รับรู้ทุกปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในจักรวาล นั่นหมายถึงยังมีอีกหลายล้านเคมีที่อยู่นอกเหนือการตรวจพบ ถ้าหากฟอสฟีนที่ค้นพบถูกสร้างขึ้นจากเคมีตัวอื่น เท่ากับการค้นพบในครั้งนี้จะทำให้เราได้รูปแบบเคมีตัวใหม่มาศึกษาต่อและเป็นตัวบ่งชี้ว่าความเข้าใจทางด้านเคมีที่มนุษย์ได้ศึกษากันมาตลอดนั้นยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ซึ่งก็นับว่ายังเป็นก้าวสำคัญของดาราศาสตร์อยู่ดี
มนุษย์สร้างฟอสฟีนตัวนี้ขึ้นมา
สำหรับข้อสันนิษฐานนี้ ไม่สามารถเชื่อถือได้มากนัก แต่ก็มีความเป็นไปได้แม้จะเป็นเปอร์เซ็นที่ต่ำก็ตาม โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ 2508 โลกได้ปล่อยยานอวกาศเวเนรา 3โดยสหภาพโซเวียตเพื่อไปสำรวจพื้นผิวของดาวศุกร์ เป็นยานอวกาศลำแรกที่ได้ลงจอดบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงอื่น แม้จะเจออุปสรรคกับพื้นผิวของดาวที่ร้อนจัด แต่เวเนราก็สามารถลงจอดได้อย่างนุ่มนวลและส่งข้อมูลกลับมายังโลกได้ ข้อสันนิษฐานนี้มองว่าการลงจอดยานในครั้งนั้น ตัวยานอาจจะนำบางสิ่งไปปนเปื้อนที่พื้นผิวของดาวศุกร์ ถ้าตามหลักการของโลก สิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกจะไม่สามารถทนอยู่ได้เมื่อเจอกับความร้อนระดับหลอมละลายตะกั่ว แต่ในทางกลับกันก็สันนิษฐานได้ว่าเคมีที่ถูกติดไปกับยานอาจจะอยู่ในสภาวะจำศีลเพื่อรอช่วงเวลาที่เหมาะสมและกลายพันธุ์เข้ากับบรรยากาศของดาวศุกร์จนซากฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศขึ้นมาได้ สำหรับข้อสันนิษฐานนี้ถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากๆ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
การค้นพบฟอสฟีนในครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายังห่างไกลที่จะสามารถระบุได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ เพราะโมเลกุลของฟอสฟีนนั้นมีความซับซ้อน การตรวจพบในครั้งนี้เป็นการค้นพบผ่านกล้องโทรทรรศน์ ไม่ใช่การสำรวจโดยตรง ข้อมูลที่ได้จึงยังเป็นการคาดคะเนและสันนิษฐานตามความเป็นไปได้จากงานวิจัย แต่โดยรวมการค้นพบในครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและเป็นก้าวสำคัญของมนุษยชาติที่เรายังคงต้องติดตามกันต่อว่ามันคืออะไร ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานหรือนานมากๆ กว่าจะได้คำอธิบายจากปริศนาในวันนี้ก็ตาม
Source: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, wikipedia, zen.yandex.ru