Neuralink เปิดตัวผลงาน "เส้นเชื่อมประสาท" ฝังในหัวมนุษย์เพื่อเชื่อมสมองกับคอมพิวเตอร์ !!
อย่างที่เราได้เห็นภาพในหนังไซไฟ แฟนตาซีต่างๆที่ได้ใช้สมองกลของคนเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และยังสามารถสั่งการต่างๆออกมาจากสมองได้ ซึ่งตอนนี้กำลังจะเกิดขึ้นจริงแล้ว เมื่อบริษัท Neuralink ของเจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่าง อีลอน มัสก์ ได้ออกมาประกาศเปิดตัวผลงานของเขาว่ากำลังพัฒนา เส้นเชื่อมประสาท ที่ฝังในหัวมนุษย์เพื่อให้สามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ได้
อีลอน มัสก์ ได้พูดไว้ว่า เส้นเชื่อมประสาทถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมโยงสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์โดยตรง โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตอยุ่ให้สามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ผ่านอุปกรณ์ฝังในสมองของพวกเขา ทั้งยังช่วยรักษาและพัฒนาสมองอีก และในอนาคตข้างหน้าอาจจะสามารถปรับปรุงวิธีที่มนุษย์คิดและสื่อสารได้อีกมากมายด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมาก
เส้นเชื่อมประสาทนี้ มีโอกาสน้อยที่จะทำลายสมองกว่าวัสดุอื่นๆ และยังมีความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนปริมาณข้อมูลที่มากขึ้น โดยมันเป็นเส้นที่มีขนาดเล็กมาก เส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 4-6 ไมโครเมตร ถือว่าเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์มากๆ และยังมีขั้วไฟฟ้า(electrodes) เอาไว้สำหรับรับสัญญาณประสาทจากสมองอีกด้วย
Neuralink ยังได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้ฝังเส้นเชื่อมประสาทนี้เข้าไปในศีรษะของมนุษย์ ซึ่งสามารถฝังได้ 6 เส้นต่อนาที แต่ในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ก็หวังว่าจะใช้ลำแสงเลเซอร์ เพื่อฝังเส้นแทนการเจาะรูกะโหลก โดยที่ผ่านมาได้มีการทดลองเบื้องต้นควบคู่กับนักประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ อีลอน มัสก์ ก็หวังว่า “เราจะได้มีสิ่งนี้ ในผู้ป่วยมนุษย์ภายในสิ้นปีหน้า” ซึ่งก็หมายความว่าเราจะได้เห็นเจ้าสิ่งนี้ภายในสิ้นปีหน้านี่เอง
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีมหาวิทยาลัย Brown ได้พัฒนาเส้นเชื่อมประสาทที่มีชื่อ BrainGate แต่ว่าของ Nueuralink สามารถส่งข้อมูลได้มากกว่ารวมถึงเส้นสายที่ปลอดภัยต่อสมองในระยะยาวมากกว่า จึงทำให้ Nueuralink มีความน่าสนใจกว่า
แต่ถึงอย่างนั้น Neuralink ยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมากโดยในการแถลง อีลอน มัสก์ ได้กล่าวว่า “เหตุผลหลักในการทำการนำเสนอครั้งนี้คือการสรรหาบุคลากร” ทั้งในด้านระบบประสาท ด้านซอฟต์แวร์ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่ง Max Hodak ประธานบริษัท Neuralink ก็ยอมรับว่าก่อนหน้านี้เขาก็ไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นความคิดที่ดี แต่ว่าอีลอน มัสก์เชื่อมั่นว่ามันจะเป็นไปได้อย่างแน่นอน
ที่มา : Engadget