รีวิว Samsung i8000 (Omnia II)
Introduction
Samsung i8000 (Omnia II) : Introduction
จากรุ่นที่แล้ว Samsung i900 ซึ่งเป็นการเปิดตัว Smart Phone ที่เป็น Windows Mobile รุ่นแรกของซัมซุงในบ้านเรา แต่ถึงแม่จะเป็นการเปิดตัวเป็นรุ่นแรก เป็นรุ่นที่ขายดีในระดับหนึ่ง ยิ่งตอนนี้ตลาด โทรศัพท์มือถือที่เป็นทัชโฟน กำลังมาแรงอีกด้วย ทำให้ซัมซุงได้ปล่อยมือถือที่เป็นทีชสกรีนออกมาเรื่อยๆ และรุ่นที่ผมจะเล่าต่อไปก็เป็นมือถืออีกตัวที่ผมประทับใจเช่นกัน นั่นคือ Samsung i8000 (Omnia II) นั่นเอง
Samsung i8000 (Omnia II): Specification
Processor : | ARM 1176 800MHz processor, dedicated graphics accelerator |
Operating System : | Microsoft® Windows Mobile 6.1 Professional® upgradeable to Windows Mobile 6.5 |
Memory : | Internal: 2GB / 8GB / 16GB |
Display : | AMOLED resistive touchscreen, 65K colors (480x800 pixel 3.7 inch) |
Frequency band : | GSM 850 / 900 / 1800 / 1900 HSDPA 900 / 1900 / 2100 |
Weight : | 117g (with battery) |
Dimension : | 118 mm (L) X 59.6 mm (W) X 11.9 mm (T) |
Battery capacity : | Standard battery, Li-Ion 1500 mAh Talk time Up to 10 h (2G) / Up to 10 h (3G) Standby time Up to 430 h (2G) / Up to 430 h (3G) |
Expansion slot : | microSD (TransFlash), up to 32GB |
Camera : | 5 MP, 2592 x 1944 pixels, autofocus, Dual Power LED flash |
GPS : | Yes, with A-GPS support |
WLAN : | Wi-Fi 802.11 b/g |
Bluetooth : | Yes, v2.0 with A2DP |
FM : | Stereo FM radio with RDS |
Audio : | Vibration; MP3, WAV ringtones |
Price : | 23,900 B |
Design
Samsung i8000 (Omnia II): Design
ดีไซน์การออกแบบตัวนี้จะคล้ายๆ กับ Samsung Jet แต่ตัวนี้จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า มีขอบตัวเครื่องเป็นวัสดุสีเงินวาว การดีไซน์ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็นหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ถึง 3.7 นิ้ว และยังสามารถตอบสนองการสัมผัสได้เป็นอย่างดีด้วยจอที่มีคุณสมบัติแบบ AMOLED แต่ว่ารุ่นนี้ถึงจะเป็นสมาร์ทโฟนที่เป็นแบบทัชสกรีนก็ตาม มันไม่มีปากกา (Stylus) ติดมากับเครื่องครับ แต่การใช้งานด้วยนิ้วก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร แถมยังใช้งานง่ายอีกซะด้วยซ้ำ เพราะอินเทอร์เฟสที่เค้าทำมามีขนาดค่อนข้างที่จะเหมาะกับนิ้วมือ เราไปดูรายละเอียดอื่นๆ กันเลยดีกว่า
ด้านหน้า
ตัวเครื่องด้านหน้าประกอบไปด้วย ช่องหูฟัง, กล้อง, โลโก้ซัมซุง หน้าจอขนาด 3.7 นิ้ว (480x800 px), ปุ่มรับสาย, ซอฟต์คีย์ ที่ออกแบบเป็นคริสตัล ดูหรูหราดี และ ปุ่มวางสาย (เปิด-ปิดเครื่อง)
หน้าจอแบบ AMOLED นี้ช่วยให้การตอบสนองการใช้งานทำได้ดีขึ้นมากกว่าแบบ TFT ถึง 1000 เท่าเลยทีเดียว ทั้งเรื่องความสว่างหน้าจอที่มีความคมชัด ให้สีสันจัดจ้าน วัสดุที่ใช้ผลิตก็มีความยืดหยุ่น ใช้พลังงานที่น้อยกว่าจอแบบอื่นๆ หน้าจอจึงมีความทนทานต่อการใช้งานได้เป็นอย่างดี แถมราคาก็ไม่แพงอีกต่างหาก และไอ้ส่วนข้อเสียที่ใครหลายๆ คนสงสัยว่าเมื่อใช้ในที่สว่าง (กลางแดด) จอจะถูกลดทอนความสว่างลงไปทำให้มองไม่ค่อยเห็นรายละเอียดนั้น จากเท่าที่ได้ลองก็ไม่ถึงกับมองไม่เห็น แต่ผมกลับมองว่า มันยังเห็นชัดกว่าจอแบบ TFT หรือจอแบบอื่นซะด้วยซ้ำ
ด้านหลัง
ด้านหลังตัวเครื่องประกอบไปด้วย กล้องขนาด 5 ล้านพิเซล (พร้อม LED Flash) โลโก้ซัมซุง, ลำโพง
พูดถึงวัสดุฝาหลัง เป็นพลาสติกสีดำเงา ลองสัมผัสแล้ว มีความแข็งแรง เกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย (ต้องระวังด้วยนะ) เมื่อถอดฝาหลังออกมา ก็จะพบ แบตเตอร์รี่ขนาดใหญ่ ช่องเสียบซิมการ์ด การใส่ซิมการ์ดจะต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อน และช่องเสียบการ์ด Micro SD ที่สามารถอัพได้มากถึง 32 GB
ด้านบน
ด้านบนมีพอร์ตต่อ USB ที่เป็นมาตรฐานของซัมซุง และช่องต่อหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มม.
ด้านล่าง
ด้านล่างจะมีเพียงช่องไมค์ รับเสียงเท่านั้น
ด้านขวา
ด้านขวามีช่องใส่สายคล้อง และปุ่มเพิ่ม-ลดระดับเสียง
ด้านซ้าย
ด้านซ้ายมีปุ่มล็อคเครื่อง ปุ่มเข้าสู่โหมดเมนู และปุ่มถ่ายภาพ
Today & Widget
Samsung Today & Widget
เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมา Today ของเครื่องจะเป็นแบบ Widget ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้นที่เครื่องได้ตั้งมาให้ตั้งแต่แรก และหน้าจอหลักของ Today ใน Samsung i8000 นี้ มีมาให้ถึงสามหน้า (ให้สังเกตุแทบขีดสีขาวด้านบน) ทำไมมันถึงมีมาให้ถึงสามหน้า ผมคิดว่าคงจะเป็นเพราะ Widget ที่มีมาให้เยอะ เวลาเราต้องการจะเอา Widget หลักที่ใช้บ่อยไปวางอาจจะล้น เลยแบ่งมาเผื่อสามหน้า จะได้วาง Widget ได้เต็มที่ หรืออาจจะเป็นอย่างอื่น ใครรู้ก็ช่วยเล่าให้ฟังด้วยนะ
เราสามารถตั้งค่าให้กับ Widget ได้ง่ายๆ เพียงแค่แตะที่ไอคอนรูปฟันเฟืองในแถบ Widget ที่อยู่ด้านบนสุด ก็จะเข้าสู่หน้า Widget Manager ในหน้านี้เราสามารถเลือกได้ว่าจะเพิ่มหรือลบ Widget ได้
การใช้งาน Widget ที่มีอยู่มากมายในแถบที่ซ่อนอยู่ด้านซ้ายของจอนั้น เพียงแค่เราลากไอคอนที่ต้องการออกมาไว้ทางด้านขวา แล้วแตะที่ไอคอนอีกครั้ง ก็เข้าใช้งานได้แล้ว ซึ่ง Widget เด่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาก็เห็นจะเป็นพวกเว็บ Community ทั้งหลาย ที่กำลังฮิตเล่นกันทั้งบ้านทั้งเมืองในตอนนี้
Usage
Samsung i8000 (Omnia II): Usage
มาดูการใช้งานโทรศัพท์ ก็ยังคงเป็นแบบมาตรฐานทั่วไป มีปุ่มตัวเลขขนาดใหญ่ พร้อมกับระบบ Smart Dial คือเมื่อกดตัวเลข มันก็จะแสดงรายชื่อหรือเบอร์โทรที่มีอยู่ในเครื่องขึ้นมาให้ทันที รวมถึงเบอร์ที่เราได้มีการโทรเข้า-ออกล่าสุดด้วย ส่วนฟังก์ชันอื่นๆ ก็ยังคงมีเหมือนเดิมเช่นกัน ได้แก่ Phonebook, Category, Speed Dial, Reject
การเพิ่มลดระดับเสียงเรีกเข้า และเสียงของระบบ จะเป็นแบบนาฬิกา มีให้เลือก 5 ระดับ 0-5 แต่ถ้าจะเปลี่ยนโหมดไปเป็น สั่น ปิดเสียง ก็แค่แตะที่ไอคอนรูปลำโพงตรงกลาง มันจะเปลี่ยนเองอัตโนมือนะครับ
Program 1
Samsung i8000 (Omnia II): Program
เมื่อเราคลิกที่ปุ่ม Start ก็จะเข้าสู่หน้าเมนูหลัก เป็นอินเทอร์เฟสที่ไม่เหมือน Windows Mobile อื่น คือแบที่ผมเคยใช้มาเมื่อกดปุ่ม Start มันจะมีรายการคำสั่งหรือโปรแกรมแสดงเป็นรายชื่อขึ้นมาใต้ปุ่ม Start ก็คล้ายกับเวลาเรากดปุ่ม Start ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปนั่นแหละ แต่เจ้า Samsung i8000 (Omnia II) นี้ เมื่อกดปุ่ม Start แล้วมันจะขึ้นหน้าเมนูหลักขึ้นมาทันที ซึ่งได้แบ่งหมวดหมู่โปรแกรมมาให้เป็น 4 หมวด ดังนั้นหน้าเมนูหลักก็จะมีทั้งหมด 4 หน้า ก็ให้สังเกตุแถบขีดสีด้านบนจะมีสี่ขีดเช่นกัน ซึ่งผมจะอธิบายโปรแกรมโปรแกรมที่สำคัญในแต่ละหมวดในหน้าต่อๆ ไปนะครับ
Touch Calendar
โปรแกรม Touch Calendar เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเตือนความจำเรา ซึ่งจะมีปุ่มเมนูด้านบนแยกเป็น เดือน (month), สัปดาห์ (week), วัน (Day), และรายการสิ่งที่เราจะทำ (Agenda)
Clock
ในโปรแกรมนาฬิกา Clock ประกอบไปด้วยส่วนย่อยได้แก่ นาฬิกาปลุก (Alarm), ครบรอบวันสำคัญ (Aniversary), เวลารอบโลก (World clock) และสุดท้ายจับเวลา (Stop watch)
Audio Note
โปแกรมบันทึกเสียง Audio Note ใช้สำหรับบันทึกความจำแทนการพิมพ์ตัวอักษรด้วยเสียง หรือจะบันทึกเสียงอื่นๆ ก็ได้นะ
Smart Memo
โปรแกรมบันทึกด้วยการเขียนตัวอักษรลงไปบนจอได้เลย โปรแกรมสามารถลบและปรับเปลี่ยนขนาดหัวแปลงได้ด้วย แต่ต้องบอกก่อนนะว่าไปหาอะไรมาขีดเขียนเอาเอง เพราะเค้าไม่มีปากกา (Stylus) มาให้ แต่ต้องหาอะไรที่ไม่แหลมและแข็งนะ เดี๋ยวจอเป็นรอยเอาได้
Calculator
หน้าตาโปรแกมเครื่องคิดเลขจะมีให้เลือกใช้งานกันสองโหมด ในโหมด Arithmetic ก็เรียบง่ายไม่มีอะไรซับซ้อนมาก ส่วนโหมด Scientific เป็นโหมดเครื่องคิดเลขที่น่าจะเหมาะกับนักศึกษาที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์อะนะ หรือไม่ก็คนที่ทำงานเกี่ยวกับตัวเลขที่ซับซ้อนนะ ก็ดีนะจะได้ไม่ต้องไปซื้อเครื่องคิดเลขแพงๆ (อิอิ)
File Manager
ในโปรแกรม File Manager อยากรู้ว่าอะไรอยู่ในเครื่องเราบ้างต้องมาที่นี่เลย ซึ่งหน้าตาที่มากับ Samsung i8000 (Omnia II) นี้มีมาให้เลือกใช้สองแบบคือ List Folder, Content Folder ถนัดใช้แบบไหนก็เลือกเอา
Smart Coverter
ก็เป็นโปรแกรมแปลงค่าต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์มากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการแปลงสกุลเงิน ขนาดพื้นที่ น้ำหนัก อุณหภูมิ เป็นต้น ลองเข้าไปเล่นดูนะ
Setting
ในส่วนของการตั้งค่า Setting ก็ยังคงเป็นการตั้งค่าให้กับเครื่องทั่วๆ ไป แต่ใช้แรกๆ ก็งงๆ เพราะผมดันไปคุ้นเคยกับหน้าตาแบบเก่าที่เป็นมาตรฐาน ของ Windows Mobile แต่ใช้ๆ ไปใช้เวลาไม่นานที่จะทำความรู้จักกับมัน
Program 2
Touch Player
โปรแกรม Touch Player ก็ไม่มีอะไรมาก ใช้งานง่าย แบ่งแยกรูปแบบโดยมีไอคอนด้านบน สามารถคลิกเพื่อดูได้เลย ซึ่งแต่ละหน้าก็จะแสดงรูปภาพปกด้วย
Photo Album
โปรแกรมอัลบั้มรูปภาพ Photo Album ส่วนการเลือกดูรูปภาพที่เราเก็บไว้ในเครื่องก็แตะที่ไอคอนสัญลัญลูกศรที่เป็น Enter ด้านบน เพื่อเข้าไปเลือกที่เก็บไหล์รูปภาพ และตัวอักษรด้านช้างก็จะบอกถึงที่อยู่ของรูปภาพ เมื่อเข้าไปแล้วรูปภาพก็จะแสดงเป็นรูปเล็กๆ เราก็แตะลงไปที่ภาพ จะดูแบบสไลด์ หรือจะเลื่อดูเองก็ได้ ดูภาพแบบเต็มจอกันไปเลย
Camera
มาถึงส่วนที่สำคัญของอีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยก็คือโปรแกรมการถ่ายรูปและวิดีโอนั่นเอง เมื่อมีกล้องคุณภาพติดมาแล้วเพราะฉะนั้น โปรแกรมที่ใช้ในการถ่ายก็ต้องดีด้วยจริงมั้ย ต้องขอบอกว่าจุดเด่นอีกเรื่องของมือถือซัมซุงก็คงจะเป็นกล้องถ่ายรุปนี่แหละ ที่นอกจากจะถ่ายรูปสวย คมชัด ให้สีสันที่สดใสแล้ว โปรแกรมยังมีลูกเล่น และฟังก์ชันที่ไม่แพ้กล้องคอมแพคเลยก็ว่าได้ เหมือนซื้อมือถือมาแถมกล้องยังงั้นอะนะ เราไปดูหน้าตาโปแกรมกันดีกว่าว่ามีอะไรน่าสนุก ๆให้เล่นบ้าง
มาดูหน้าตาโหมดกล้องถ่ายภาพนิ่งกันก่อน ในส่วนของการโหมดการถ่ายภาพนิ่ง ก็จะมีไอคอนฟังก์ชันให้เลือกใช้งานกันได้เลย ทั้งด้านซ้ายและขวา ส่วนไอคอนที่ด้านมุมบนซ้ายสุด ที่เป็นสัญลักษณ์รูปกล้องนั้นใช้สำหรับในการเปลี่ยนโหมดกล้องสลับกันระหว่างถ่ายภาพนิ่งกะวิดีโอ
การเลือกโหมดการถ่ายภาพ Shooting Mode ก็มีให้เลือก 6 แบบคือ Single, Continuous, Smile, Mosaic, Panorama และ Action
• Single ใช้ถ่ายภาพคน หรือภาพทั่วๆ ไป
• Continuous ใช้ถ่ายภาพต่อเนื่อง ได้ถึง 9 ช๊อต
• Smile เป็นโหมดการถ่ายภาพคน โดยจะถ่ายภาพอัตโนมัติเมื่อยิ้ม เรียกว่าไม่ยิ้มจะไม่ถ่าย
• Mosaic สำหรับภายถ่ายที่มีลักษณะต่อกันเหมือนกระเบื้องโมเสก
• Panorama สำหรับการถ่ายภาพมุมกว้าง คล้ายกับการนำภาพ 8 ภาพมาเรียงต่อๆ กัน
• Action เป็นโหมดการถ่ายภาพคน หรือถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนไหว
ส่วนการเลือกโหมดการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นโหมดที่โปรแกรมได้ตั้งค่าเอาไว้ให้แล้ว เราสามารถเลือกใช้ได้เลย ก็จะมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ คือ None, Portaait, Landscape, Sunset, Dusk & Down, Night Shot, Text, Sports, Back Light, Party & Indoors, Beach & Snow, Fall Color, Firework, Candle Light
ในกรณีต้องการเลือกขนาดภาพ ก็เลือกได้มากมาย ดังนี้ 2560 x 1920, 2048 x 1536, 1600 x 1200, 640 x 480,
มาถึงการตั้งค่าของกล้องในขั้นเทพยิ่งขึ้น เมื่อเข้ามาที่ Setting ก็จะมีฟังก์ชันต่างๆ ให้เราได้ตั้งค่ากันเยอะเลยก็เป็นการตั้งค่าการถ่ายรูปพื้นฐานทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ สามารถเลือกว่าจะเก็บไฟล์ผลลัพธ์ไว้ที่เครื่องหรือใน Memory สามารถปรับ Contrast, ปรับ Saturation และปรับ Sharpness และหากพูดถึงระบบโฟกัส ก็มีให้เลือกถึง 3 แบบ คือ Center, Spot และ Matrix
การถ่ายรูปใน Omnia II มีระบบควบคุมแสงสีขาว (White balance) หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น แบบ Auto, แบบ Daylight, แบบ Cloudy, แบบ Tungsten หรือแบบ Fluorescent ส่วนใครที่ชอบลูกเล่น (Effect) เกี่ยวกับแต่งภาพ Omnia II ก็มีมาให้อย่างเหลือเฟือ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนภาพสีให้กลายเป็นขาวดำ รวมถึงแสดงบางส่วนของภาพให้เป็นสีแต่ที่เหลือเป็นขาวดำ การเปลี่ยนสลับสีภาพจากแดงกลายเป็นเขียว การทำให้ภาพเป็นสีในแนวซีเปีย การเปลี่ยนภาพถ่ายให้กลายเป็นลายเส้น การเปลี่ยนสีให้เป็นแบบ Nagative การเน้นภาพแบบขอบนูนและอื่นๆ อีกมากมาย สามารถปรับค่า ISO ได้สูงสุด 400
การตั้งค่าเปิดปิดแฟลชก็มีให้เลือกสามรูปแบบ คือ ปิด (Off), เปิด (On), และอัตโนมัติ (Auto)
สำหรับระบบการโฟกัส ก็มีให้เลือก 3 แบบ คือ AF ซึ่งใช้การถ่ายภาพทั่วไป Macro สำหรับถ่ายภาพระยะใกล้ๆ และ Face ไว้เน้นการถ่ายหน้าบุคคล ในกรณีที่เราถ่ายรูปในที่แสงสว่างจ้า หรือในใต้ร่มเงาที่มาจากด้านหลังไม่พอดี เราสามารถปรับความสว่างภาพ (Exposure Value) ได้อีกด้วย
รูปถ่ายจริงจากกล้อง Samsung i8000 (Omnia II)
ภาพถ่ายที่ใช้กล้องจาก Samsung i8000 ถ่ายในโหมดอัตโนมัติและแบบมาโคร (Macro) ซึ่งต้องยอมรับว่า ระบบออโต้โฟกัสทำได้เร็วมากเลยครับ ส่วนภาพที่ได้ก็มีความคมชัดดี การถ่ายในที่มืดเมื่อใช้แฟลช LED ช่วย ก็สว่างมาก แต่ไม่ถึงกับโอเวอร์ ส่วนการทดลองถ่ายโหมดอื่นก็ได้ภาพที่ดีในระดับหนึ่งครับ แต่ก็ยังสู้กล้องถ่ายรูปคอมแพคไม่ได้เท่าไหร่นะ แต่ก็เอาเหอะคับมีม่ให้เท่านี้ก็ถือว่าสุดยอดแล้วแหละ
Video
ส่วนการบันทึกวีดีโอสามารถเลือกรูปแบบการถ่ายได้ 3 แบบ คือ Normal, MMS, Slow จะบันทึกได้ถึง 4 ขนาด คือ 720x480, 640 x 480, 320 x 240 และ 176 x 144 พิกเซล โดยในระหว่างบันทึกจะมีตัวเลขบอกให้ทราบว่าเนื้อที่ซึ่งใช้เก็บวีดีโอยังพอมีเหลืออีกเท่าไหร่ ซึ่งช่วยให้เราทราบตลอดเวลาว่าเราควรจะหยุดบันทึกวีดีโอเมื่อใดนั่นเอง
Program 3
FM Radio
Samsung i8000 ให้ลูกเล่นมาอย่างครบถ้วน รวมถึงการฟังวิทยุ FM เงื่อนไขก็เหมือนเดิม คือ จะต้องเสียงหูฟังด้วย เพราะเจ้าหูฟังนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นเสาอากาศ หากไม่เสียบหูฟังก็ฟังวิทยุไม่ได้ วิทยุใน Samsung i8000 ก็มีคุณสมบัติคล้ายของคู่แข่ง คือ สามารถค้นหาสถานีที่ชอบ บันทึกสถานีได้
Digital Frame
โปรแกรมนี้ก็เป็นอีกลูกเล่นที่น่าสนใจ ทำเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะก็เก๋ไปอีกแบบนะ ส่วนหน้าตาของมันก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้หลายแบบ เปลี่ยนภาพพื้นหลังได้ด้วย
Game
เกมส์ในเครื่องมีมาให้มาตรฐาน 3 เกมส์ คือ Dice, Solitaire, Bubble Breaker
Cube Menu
เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่มีมาเพิ่มใน Samsung i8000 นี้ เป็นเมนูในแบบลูกบาศก์ จากที่ได้ลองใช้งานก็หมุนได้ แต่ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ถ้าแตะที่แถบเมนูด้านล่างก็จะสะดวกกว่า
Internet Browser
อันนี้จะเป็นหน้าตาโปรแกรมของ Opera ส่วนในช่อพิมพ์ URL เมื่อเราพิมพ์ชื่อเว็บลงไปมันจะทำการค้นหาคำที่ใกล้เคียงให้ทันที
ส่วนอีกโปรแกรมคือ Internet Explorer ครับ
GPS
Wireless Connection
การควบคุมระบบเชื่อมต่อในแบบไร้สายถูกรวบรวมอยู่ใน Wireless Manager โดยเราสามารถเรียกใช้งาน Wireless Manager จากการแตะที่ไอคอนสัญญาณโทรศัพท์ด้านขวาบนของจอ หรือเรียกโปรแกรมนี้จากการแตะทีปุ่ม Start>Settings>Connection โดยภายใน Wireless Manager นั้นประกอบไปด้วยคำสั่งสำหรับการเปิดปิดการเชื่อมต่อทั้งระบบ Airplane mode Phone Bluetooth และ Wi-fi
- Airplane Mode เป็นโหมดเปิด-ปิดเพื่อใช้งานบนเครื่องบิน
- Phone เปิด-ปิดสัญญาณโทรศัพท์
- Bluetooth เปิด-ปิด Bluetooth
- Wi-Fi เปิด-ปิดสัญญาณ wifi
- All Data Connection เป็นการเปิด-ปิดโหมดการเชื่อมต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ต
เมื่อเราเปิดใช้งานการเชื่อมต่อ Wifi และ Bluetooth หน้าจอจะแสดงสัญญาณที่พบเป็นแบบไอคอน ซึ่งก็แปลกตาดี แต่ผมว่ามันช่วยให้เราใช้งานได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต่อเข้าไปหลายขั้นตอน อยากเชื่อมต่ออันไหนก็แค่แตะที่ไอคอนนั้นได้เลย แต่เมื่อเวลาเราใช้โหมด Wifi หรือ Bluetooth ก็จะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานพอสมควร หากเราไม่ได้ใช้ก็ควรที่จะไปปิดมันซะ
Office
ใช้สำหรับอ่าน หรือแก้ไขงานเอกสารต่างๆ โปรแกรมออฟฟิศที่มีมาให้ Word Mobile, Exel Mobile, PowerPoint Mobile, OneNote Mobile และยังมีโปรแกรมสำหรับอ่านไฟล์ PDF คือ Adobe Reader LE
Task Switcher
โปรแกรมนี้ก็เป็นโปรแกรมที่คล้ายหรือเหมือน Task Manager นั่นแหละครับ คือเป็นโปรแกรมเอาไว้สำหรับตรวจสอบดูว่าตอนนี้เราเปิดใช้งานโปรแกรมอะไรบ้าง ส่วนความแตกต่างก็คือแบบ Task Manager จะเป็นรายการชื่อโปรแกรมที่เราเปิดใช้อยู่ขึ้นมา แต่โปรแกรม Task Switcher นี้จะแสดงรายการเป็นหน้าตาโปรแกรมที่เราเปิดใช้อยู่ ซึ่งก็สะดวกดี คุณสามารถที่จะเลือกปิดโปรแกรมบางอันหรือเลือกปิดทั้งหมดเลยก็ได้ครับ
Conclusion
Samsung i8000 (Omnia II): Good Point - Bad Point
ข้อดี ข้อเด่น
1. วัสดุที่ใช้ค่อนข้างมีคุณภาพสูง การประกอบตัวเครื่องดี
2. หน้าจอมีขนาดใหญ่ถึง 3.7 นิ้ว
3. หน้าจอมีคุณสมบัติที่เป็น AMOLED มีความสว่าง ตอบสนองการใช้งานได้เร็ว แข็งแรงทนทาน
4. กล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อม LED Flash โฟกัสได้เร็ว
5. รองรับการอัพเกรดเครื่องเป็น Windows Mobile 6.5 ได้
ข้อสังเกต
1. ไม่มีปากกา (Stylus) มาให้
2. ไม่ได้แถมโปรแกรม GPS มาให้
Samsung i8000 (Omnia II): Conclusion
มาถึงบทสรุปของเครื่อง Samsung i8000 (Omnia II) กันแล้วครับ หลังจากที่ได้ทดลองใช้เครื่อง ก็มีความรู้สึกว่าชอบขึ้นมานิดๆ ครับเพราะหน้าจอใหญ่ดี การใช้งานหน้าจอที่ตอบสนองได้อย่างอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นจอแบบ AMOLED จอมีความสว่างมาก สีสันจัดจ้าน แต่ไม่ถึงกับแสบตา ส่วนตัวผมชอบการออกแบบนะ เพราะถึงหน้าจอจะมีขนาดใหญ่แต่น้ำหนักตัวเครื่องเบาทีเดียว สู้กับยี่ห้อไอ... และอื่นๆ ได้สบาย (บางอย่างนะครับ อิอิ)
ส่วนโปรแกรมที่มีมาให้กับเครื่องก็ครบครัน แทบจะไม่ต้องไปหามาลงเพิ่มแต่อย่างใด อ่อยกเว้นโปรแกรมนำทาง GPS ต้องไปหามาลงเอง เพราะเค้าไม่มีมาให้ แต่ผมว่า Google Maps ก็ใช้ได้ดีนะ เพราะเค้าพัฒนาแล้ว มองเห็นหลังคาบ้านเพื่อนเลย โหลดเร็วพอสมควร (ทดสอบด้วย WIFI นะครับ)
ความคิดเห็นของผู้ทดสอบก็มีเพียงเท่านั้น อยากได้ความคิดเห็นจากคนอื่นบ้าง ว่ารู้สึกยังไง ใครที่ใช้อยู่ก็มาเขียนเล่าให้อ่านมั่งนะ ส่วนใครที่ยังไม่มี ก็อ่านรีวิวแล้วช่วยติชมด้วยละกันครับ คราวต่อๆ ไปจะพัฒนาเพื่อให้เว็บไซต์เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับคนรักเทคโนโลยีครับ